Button 1 Button 2 Button 3 Button 5
Button 1 Button 2 Button 3 Button 4

นครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ | Nakhon Sawan Smart City

นครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ | Nakhon Sawan Smart City

เมืองอัจฉริยะ “Smart City” คือการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการให้บริการและบริหารจัดการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน





คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ได้รับรองให้เทศบาลนครนครสวรรค์เป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในปี พ.ศ. 2564 โดยพิจารณาจากข้อเสนอการพัฒนาเมืองของ “Nakhon Sawan Smart City” ซึ่งมีแนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการบริการประชาชนในด้านต่างๆ การบริหารจัดการองค์กร และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “นครน่าอยู่ เคียงคู่เจ้าพระยา พัฒนานวัตกรรม สร้างสังคมสุขภาวะ” ซึ่งมีมิติการพัฒนาตามกรอบของสำนักงานเมืองอัจฉริยะ 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)





1. ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดูแลและจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานสากล การติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ 12 จุดทั่วเขตเทศบาล การนำเสนอโครงการเมืองสีเขียวอัจฉริยะในเวที “Smart Green ASEAN City” และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำโครงการถังขยะอัจฉริยะ โดยใช้ AI ร่วมกับการวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อแจ้งเตือนปริมาณขยะล้นถังตามจุดต่างๆ และการใช้ GPS ติดตามรถเก็บขยะเพื่อให้ประชาชนทราบพิกัดรถเก็บขยะแบบ Realtime เป็นต้น

2. ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดในเขตเทศบาล เช่น การใช้หลอดไฟพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) โดยติดตั้งอย่างสมบูรณ์ภายในคลองญวนชวนรักษ์ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ภายในสำนักงาน การใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานในตัวอาคาร (Building Management System: BMS) เพื่อควบคุมและจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบดิจิทัล

3. ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เทศบาลมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ โครงข่ายการสื่อสารดิจิทัล หรือ Super Node ซึ่งเป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั่วเขตเทศบาล เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบ Smart Safety Zone ของสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในการจัดทำเสาขอความช่วยเหลือ หรือ “เสา SOS” ซึ่งปัจจุบันมี 27 จุดทั่วเขตเทศบาล นอกจากนี้ยังใช้โครงข่าย Super Node ในการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ Wi-fi ซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลายวัตถุประสงค์ ประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายในพื้นที่สาธารณะ และใช้โทรศัพท์ระบบ VoIP หรือใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตแทนการใช้สายสัญญาณโทรศัพท์แบบดั้งเดิม เป็นต้น

4. ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) คือการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศดิจิทัลในการบริหารจัดการและให้บริการแก่ประชาชน ทั้งการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์หลากหลายช่องทางในการติดต่อสื่อสาร การใช้ระบบบริหารงานประปาทั้งการจัดการระบบผู้ใช้น้ำและเก็บค่าบริการผ่าน QR Code การจัดการข้อมูลของโรงเรียนในสังกัดเทศบาล โดยใช้ระบบบริหารจัดการสถานศึกษา (Demy App) ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มบริหารจัดการ Big Data ด้านการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 9 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์หรือประมวลผลได้ทันที มีความพร้อมใช้งานสำหรับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนา ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาได้



Digital Transformation



การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ของเทศบาลนครนครสวรรค์ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนระบบกล้องวงจรปิดอนาล็อก (Analog Cameras) เป็นระบบกล้องวงจรปิดดิจิทัล (Digital CCTV) และพัฒนามาสู่กล้องวงจรปิดความละเอียดสูง (HD) ในปัจจุบัน โดยพัฒนาโครงข่ายสายสัญญาณ CCTV ไปสู่รูปแบบการสื่อสารดิจิทัลความเร็วสูง ที่ใช้ประโยชน์จากสัญญาณดิจิทัลได้เต็มศักยภาพมากขึ้น เช่น สัญญาณกล้องวงจรปิด สัญญาณโทรศัพท์ดิจิทัล (VoIP) สัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบใช้สายและไร้สาย สัญญาณดิจิทัลความถี่ต่ำ (LoRaWAN) สำหรับอุปกรณ์ประเภท IoT (Internet of Things) รวมทั้งการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในระบบกล้องวงจรปิดด้วย และกลายเป็นโครงข่ายการสื่อสารของเมืองที่ได้รับรางวัลด้านการบริหารจัดการที่ดีระดับประเทศ จากการที่เทศบาลนครนครสวรรค์ได้นำสัญญาณดิจิทัลไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการให้บริการประชาชนและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างความปลอดภัย เฝ้าระวังเหตุร้าย และรักษาสวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน



โครงข่ายนครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ “Super Nodes”

“โครงข่ายนครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ (Super Nodes)” คือ นวัตกรรมท้องถิ่นที่ทำให้เทศบาลนครนครสวรรค์ได้รับรางวัล “อันดับที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประเภทโดดเด่น กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565” จากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นโครงการที่พัฒนาจากการปรับปรุงโครงข่ายสายสัญญาณกล้องวงจรปิดในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ให้เป็นรูปแบบโหนดเครือข่าย (Network Node) ชนิดความเร็วสูง 10 Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) คลอบคลุมพื้นที่ทั่วเขตเทศบาล และเชื่อมต่อกับหน่วยงานของเทศบาลที่มีที่ตั้งแยกจากอาคารสำนักงานเทศบาล จำนวน 23 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีสถานีปลายทาง (Terminal) หรืออุปกรณ์ที่ใช้สัญญาณดิจิทัลในโครงข่าย Super Nodes ได้แก่ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด จุดกระจายสัญญาณ Wi-fi ระบบโทรศัพท์สัญญาณอินเทอร์เน็ต เสาขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (เสา SOS) เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา



(แบบจำลองโครงข่ายการสื่อสารดิจิทัล “นครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ (Super Nodes)”)



จุดเด่นของโครงข่าย Super Nodes

1. ด้วยโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง (Hi-speed Network Node) ทำให้เชื่อมประสานเครือข่ายหลักกับเครือข่ายย่อย และส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายต้นทางไปยังปลายทางอย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

2. ลดความซ้ำซ้อนของระบบโครงข่าย สามารถเชื่อมต่อหลายบริการเข้าด้วยกันได้ ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเขตเทศบาล ทั้งระบบมีสายและไร้สาย มีระบบการรับ-ส่งสัญญาณระหว่างโหนดเครือข่ายมากกว่า 1 เส้นทาง เพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบโครงข่ายที่มีระบบทดแทนการส่งสัญญา เมื่อเส้นทางหลักขัดข้อง ทำให้การสื่อสารโดยรวมเป็นไปด้วยความราบรื่น

3. ลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและติดตั้งอุปกรณ์ทั้งแบบมีสายและไร้สาย สามารถดำเนินการได้สะดวก ง่าย และรวดเร็วแม้อยู่ในพื้นที่เมือง พื้นที่อาคารสูง หรือพื้นที่ที่ไม่อำนวยในการรับส่งสัญญาณ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมื่อต้องมีการต่อขยายระบบโครงข่ายเพิ่มเติมในอนาคต

4. เชื่อมต่อระบบสื่อสารกับหน่วยงานในสังกัดเทศบาลเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรร่วมกันได้ ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากร รวมถึงเชื่อมต่อสัญญาณกับหน่วยงานภายนอก เช่น อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้สามารถเข้าใช้งานระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด สำหรับดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

5. สามารถนำบริการด้านต่างๆ ที่ใช้งานอยู่แล้ว เช่น ระบบโทรศัพท์ VoIP ระบบจัดเก็บข้อมูลกลาง Cloud Files ระบบให้บริการอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ต ระบบให้บริการ Wifi สาธารณะ บริการด้านการศึกษา บริการด้านสาธารณสุข และบริการอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต ไปเปิดให้บริการได้ทันทีทุกพื้นที่ในเขตเทศบาลฯ โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเฉพาะกิจ


CCTV: กล้องโทรทัศน์วงจรปิด

เทศบาลนครนครสวรรค์ เริ่มติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 เพื่อสอดส่องดูแลและบันทึกภาพเหตุการณ์บนท้องถนน ตามนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยของเทศบาล โดยในระยะแรกใช้กล้องวงจรปิดแบบอนาล็อกและได้ติดตั้งเพิ่มเติมเรื่อยมาหลายโครงการ จนกระทั่งเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัลโดยใช้กล้องดิจิทัลความละเอียดสูง (ร่วมกับการแปลงสัญญาณเป็นดิจิทัลจากกล้องอนาล็อกเดิมที่ติดตั้งอยู่ก่อนแล้ว) จึงทำให้การตรวจจับรายละเอียดภายในภาพได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการติดตั้งในบริเวณถนนสายหลักและสถานที่สาธารณะ เช่น ภายในบริเวณอุทยานสวรรค์ สถานีขนส่ง สนามกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีห้องปฏิบัติการอยู่ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ภายในสำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งให้บริการประชาชนสำหรับตรวจดูกล้องวงจรปิดที่เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบด้วย



นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อใช้ในกรณีพิเศษ ได้แก่

• ในเขตชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ เพื่อเฝ้าระวังสวัสดิภาพ ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ สนับสนุนด้านการจราจร การป้องกันอาชญากรรม และปัญหายาเสพติด โดยตั้งเป้าติดตั้งกล้องวงจรปิดในชุมชนปีละ 4 ชุมชน ชุมชนละ 8 ตัว ปัจจุบันมีชุมชนนำร่องทั้งสิ้น 12 ชุมชน



• โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อช่วยให้ผู้ปกครอง ครู และเจ้าหน้าที่มีความมั่นใจว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก ส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีต่อการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และยังช่วยในการดูแลรักษาความปลอดภัยและดูแลทรัพย์สินของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ด้วย โดยดำเนินการติดตั้งภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 12 ศูนย์ ติดตั้งกล้องศูนย์ละ 8 ตัว



• การส่งเสริมการสร้างวินัยจราจร โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ในการใช้กล้องที่มีความละเอียดสูงและใช้ AI ในการวิเคราะห์ ผ่านระบบ AI License Plate ซึ่งสามารถตรวจจับภาพทะเบียนรถยนต์และจักรยานยนต์ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ไม่สวมหมวกกันน็อค จอดรถซ้อนคัน เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถตรวจจับหมายเลขทะเบียนรถที่มีคดีกระทำความผิด โดยเชื่อมต่อข้อมูลกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ นอกจากนี้ ยังมีระบบ Face Recognition ที่มีระบบ AI ตรวจจับใบหน้าของผู้กระทำความผิดในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ



Free Wi-fi

ความสามารถของโหนดเครือข่ายคือการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อย่างหลากหลาย รวมถึงการติดตั้งจุดกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-fi) ซึ่งใช้ประโยชน์ทั้งการรับส่งสัญญาณของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในสำนักงานเทศบาล และยังเปิดให้บริการ Free Wi-fi แก่ประชาชน โดยสามารถลงทะเบียนใช้งานได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือลงทะเบียนผ่านระบบ ณ จุดให้บริการได้โดยตรง ปัจจุบันมีจุดบริการรวมกว่า 155 จุดทั่วเขตเทศบาล

นอกจากนี้ เทศบาลนครนครสวรรค์ ได้นำสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากอาคารพาสานมาใช้ ณ โรงพยาบาลสนามศูนย์เฝ้าระวังโรคติดต่อชั่วคราว (Covid-19) สนามกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ ผ่านโครงข่าย Super Nodes เพื่อให้บริการแก่บุคกรทางการแพทย์ที่ต้องรายงานสถานการณ์แบบ Realtime รวมถึงให้บริการแก่ประชาชนที่กักตัวภายในโรงพยาบาลสนามด้วย โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสถิติข้อมูลและสารสนเทศของเทศบาลนครนครสวรรค์ใช้เวลาติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 1 วัน



VoIP: โทรศัพท์สัญญาณอินเทอร์เน็ท

โครงการระบบโทรศัพท์ค่าใช้จ่ายต่ำ VoIP (Voice over Internet Protocol) เป็นเทคโนโลยีการส่งสัญญาณเสียงแบบดิจิทัลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยี VoIP กำลังเข้ามาแทนที่โทรศัพท์ระบบอนาล็อก ให้ความสะดวกในการใช้งานและการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก อีกทั้งการติดตั้ง การเคลื่อนย้าย และค่าบริการ มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ซึ่งใช้หมายเลขโทรศัทพ์เคลื่อนที่แบบเหมาจ่ายแทนการเช่าหมายเลขโทรศัพท์โดยตรง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบชุมสายโทรศัพท์แบบเดิม (Analog) ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ลดข้อจำกัดของการขยายเลขหมายโทรศัพท์ และลดค่าใช้จ่ายในการใช้งานโทรศัพท์ในระยะยาว นอกจากนี้ ระบบโทรศัพท์ที่อยู่ในการดูแลของเทศบาลนครนครสวรรค์ สามารถเชื่อโยงถึงกันผ่านโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง Super Nodes ให้สามารถติดต่อถึงกันระหว่างสำนักงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งสามารถติดตั้งระบบโทรศัพท์ได้ทันทีทุกที่อย่างรวดเร็ว สามารถแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการในอนาคตได้ต่อไป


เสาขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (เสา SOS)

เสาขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ เสา SOS เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Smart Safety Zone 4.0 หรือ โครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ดำเนินการร่วมกับ เทศบาลนครนครสวรรค์ โดยการติดตั้งเสา SOS ที่ระบบกล้องแจ้งเหตุฉุกเฉินได้โดยตรง โดยเชื่อมต่อสัญญาณกับศูนย์ปฏิบัติการและควบคุมสั่งการป้องกันอาชญากรรม หรือศูนย์ CCOC ของ สภ.เมืองนครสวรรค์ ปัจจุบันมีเสา SOS อยู่ 27 จุดในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์




(แผนที่ติดตั้งเสา SOS จำนวน 27 จุดในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์)



เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ

เทศบาลนครนครสวรรค์ ดำเนินการจัดทำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของตนเอง จำนวน 12 จุดทั่วเขตเทศบาล โดยการตรวจค่า PM2.5 และ PM10 แสดงผลทางเว็บไซต์ของเทศบาล (Visualization)


นอกจากนี้ ยังได้จัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วม โดยติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้แจ้งเตือนระดับน้ำของแม่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง



โครงการด้านดิจิทัลในอนาคต

เทศบาลนครนครสวรรค์ มีแผนดำเนินการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาใช้ในการให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งเป้าดำเนินการในเร็วๆ นี้ อาทิ

• ระบบการเก็บขนขยะอัตโนมัติ โดยใช้เซ็นเซอร์ AI ของกล้องวงจรปิด ตรวจจับปริมาณขยะในถังขยะ ณ จุดทิ้งขยะชุมชนที่มีขยะจำนวนมาก เพิ่มแจ้งเตือนอัตโนมัติไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าเก็บขยะทันทีเมื่อระบบตรวจพบว่าขยะเต็มถังหรือล้นถัง อีกทั้งยังมีระบบ GPS ติดตามรถเก็บขยะในแต่ละเส้นทาง


• ระบบกระจายเสียงชุมชนโดยใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต แทนการใช้คลื่นวิทยุเหมือนในอดีต โดยจะทำให้การดำเนินการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถกำหนดให้ผู้ใช้งานจากชุมชนใช้เป็นหอกระจายข่าวได้โดยใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง

• ระบบดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการติดต่อประสานความช่วยเหลือ แจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ เทศบาลนครนครสวรรค์ยังส่งเสริมด้านเทคโนยีและดิจิทัลในภาคการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ มีพื้นฐานความรู้ด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเรียนรู้ด้วยความสนุก



การพัฒนาไปสู่ความเป็น “โรงเรียนอัจฉริยะ” (Smart Schools)

1. ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ด้วยโครงข่ายการสื่อสารดิจิทัล หรือ Super Node ที่สามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ใช้สัญญาณดิจิทัลได้ทุกรูปแบบ ทำให้สามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้รูปแบบใหม่และใช้เพื่อการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักเรียน โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องช่องทางสำคัญ ได้แก่ การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านระบบ Free Wi-fi ทั้งในโรงเรียน ชุมชน และสถานที่สาธารณะที่สำคัญในเขตเทศบาล สนับสนุนการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรทางการศึกษา ติดตั้ง CCTV ภายในโรงเรียน โดยเฉพาะในห้องเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าดูได้เป็นการเฉพาะ เป็นต้น

2. หลักสูตรการเรียนการสอนด้านดิจิทัล และทักษะกีฬา E-sport
• หลักสูตรทักษะกีฬา E-sport คือการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในระดับนานาชาติโดยใช้เกมส์ออนไลน์เชิงกลยุทธ์ โดยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนและการควบคุมทีมเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในเวทีต่างๆ สนับสนุนให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันและเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ทั้งการจัดงานในภาพรวม การเป็นผู้เล่นและผู้ควบคุมทีมที่มีประสิทธิภาพ การเป็นคณะกรรมการการตัดสิน การเป็นโฆษก พิธีกร นักพากย์ รวมไปถึงกิจกรรมอื่นที่เกิดขึ้นในการแข่งขันตามความถนัดของนักเรียน เช่น การออกแบบโลโก้ทีม เสื้อการแข่งขัน การประกวดแต่งกาย Cosplay เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการสร้างงาน ตามคำขวัญที่กล่าวว่า “E-sport กีฬาสร้างอาชีพ”


• 2.1 หลักสูตร Coding หรือ การฝึกเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยภาษาหรือรหัส (Code) ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ เช่น ภาษา Python, JavaScript และ C ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ทำศูนย์เรียนรู้และมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน Coding ตามโครงการเรียน Coding พัฒนาคุณภาพชีวิต (Coding for Better Life) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาผู้เรียนในการคิดและสร้างสรรค์ทักษะด้านดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่การต่อยอดด้านดิจิทัลอื่นๆ ในอนาคต เช่น การใช้งาน IoT (Internet of Things) การสร้างหุ่นยนต์ เป็นต้น


3. ความพร้อมด้านข้อมูลสารสนเทศดิจิทัล โดยใช้ระบบจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกโรงเรียนในสังกัดเทศบาล ผ่านแพลทฟอร์ม Demy เพื่อใช้ประโยชน์จาก Big Data ที่มีอยู่นำมาวิเคราะห์และประมวลผลตามวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนเป็นผู้ใช้เครื่องมือ และผู้บริหารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา

ภายใต้โครงข่ายนครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ หรือ Super Nodes เทศบาลนครนครสวรรค์ สามารถพัฒนาการให้บริการประชาชนและแนวทางการดำเนินงานโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างหลากหลายในอนาคต มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต



ไฟล์ PDF นครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ เทศบาลนครนครสวรรค์