เศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้เพิ่มให้คนในท้องถิ่น
เศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้เพิ่มให้คนในท้องถิ่น
พาสาน คลองญวนชวนรักษ์ ประติมากรรม ปีกนางฟ้า อุทยานวัฒนธรรมต้นน้ำเจ้าพระยา สะพานคนเดินข้าม พระแม่กวนอิม 3 ปางค์ 45 เมตร
การดำเนินการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และรายได้ให้คนในท้องถิ่น ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ในช่วงที่ผ่านมา และในอนาคตอันใกล้
นอกจากการส่งเสริมการงานประเพณีตรุษจีน ทั้งในรูปแบบของงบประมาณการจัดงาน สถานที่ กำลังบุคลากรต่างๆ เป็นประจำในทุกๆ ปี แล้ว เทศบาลนครนครสวรรค์ยังมีการดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่น ความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
“พาสาน”
“พาสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บริเวณ เกาะยม จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์ก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็น Landmark ของจังหวัดนครสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการมาเยือนจุดกำเนิดแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย
ชื่อ “พาสาน” มีที่มาจากคำว่า "ผสาน" คือ การรวมกัน แต่ "พาสาน" คือ การพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่าง คน สถานที่ และช่วงเวลา

แนวคิดริเริ่มเกิดจากความต้องการพัฒนาที่ดินบริเวณเกาะยมจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีภูมิทัศน์เป็นเอกลักษณ์ประจำเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2548 โดยเทศบาลนครนครสวรรค์ ร่วมกับ ชมรมคนรักษ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนชาวนครสวรรค์ ได้ผลักดันให้เกิดโครงการจัดสร้างอาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีริมน้ำ โดยการพัฒนาพื้นที่ให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมโดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์




จากนั้นจึงจัดการด้านกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณปลายเกาะยม เนื้อที่ 3 ไร่ 48 ตารางวา โดยได้รับการอนุมัติการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์ และได้รับมอบที่ดินบริจาคจากนางสาววรรณี ชัยประสิทธิ์ จำนวน 1 แปลง โดยมีเงื่อนไขให้สร้างรูปเคารพองค์พระแม่กวนอิมในพื้นที่ ที่ดินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 3 แปลง ชมรมคนรักษ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมเงินบริจาคจากภาคประชาสังคมได้เป็นเงินจำนวน 9,262,674.95 บาท จัดซื้อและส่งมอบที่ดินให้แก่เทศบาลนครนครสวรรค์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างอาคารสัญลักษณ์จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเงินจำนวน 117,600,000 บาท


สำหรับการออกแบบอาคารสัญลักษณ์ ได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมสถาปนิกสยามเป็นผู้ดำเนินการจัดประกวดแบบ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นกรอบแนวคิดในการออกแบบ มีผู้ส่งแบบเข้าประกวดจำนวน 99 แบบ โดยแบบที่ได้รางวัลชนะเลิศ ‘พาสาน’ เป็นผลงานของนายไกรภพ โตทับเที่ยง และคณะ ที่สื่อถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างดีและสร้างประโยชน์การใช้สอยสอดคล้องกับพื้นที่
จากนั้นจึงทำจ้างบริษัทเอกชนออกแบบและก่อสร้างอาคารพาสานขึ้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 ภายในอาคารประกอบด้วย ห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ ตลอดจนทางเดินที่มีความสลับซับซ้อนและเห็นโครงสร้างอาคารที่สวยงาม มีจุดชมทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ลานประดิษฐานองค์พระแม่กวนอิม แพท่าน้ำ และการจัดแสดงแสงสีเสียงมัลติมีเดียม่านน้ำตกในช่วงค่ำเพื่อให้ประชาชนสามารถชมการแสดงได้จากฝั่งตลอดปากน้ำโพ ซึ่งบริหารจัดการโดยเทศบาลนครนครสวรรค์
“รูปแบบอาคาร”
แสดงตัวตนที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เอื้อประโยชน์ต่อผู้มาใช้งานและเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยาถูกสะท้อนออกมา ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและแทรกตัวอยู่ในธรรมชาติอย่างกลมกลืนกับลักษณะโครงสร้างคล้ายเส้นสายที่สอดประสานกันมาบรรจบที่ปลาย มาจากการรวมตัวกันของแม่น้ำหลักจาก 4 สาย มาประสานกันเป็นสองสายและรวมเป็นหนึ่งเดียว





สถาปัตยกรรมแห่งนี้ถูกออกแบบและก่อสร้างขึ้นให้สามารถคงอยู่ในสภาพภูมิประเทศ ที่จะมีน้ำขึ้นสูงในช่วงฤดูน้ำหลาก ลักษณะของอาคารที่ยกโค้งพ้นน้ำ ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสามารถพายเรือลอดส่วนโค้งของอาคาร ชมความงามของริมฝั่งน้ำตลอดจนความงามของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ท่ามกลางสายน้ำ


“คลองญวนชวนรักษ์”
คลองญวน เกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากในช่วงฤดูน้ำหลากเข้าไปในแผ่นดินระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้แผ่นดินแยกตัวออกมาเป็นเสมือนเกาะกลางน้ำ ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชาวคาทอลิกเชื้อสายเวียดนามหรือ ‘ชาวญวน’ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สร้างโบสถ์และโรงเรียนสอนศาสนา แต่พื้นที่ ‘เกาะญวน’ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ่อยครั้ง ชาวญวนจึงย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในตัวเมืองมาจนถึงปัจจุบัน จึงเหลือเพียงประชากรกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังอาศัยอยู่ในเกาะญวน
ภายหลังจากการก่อสร้างพนังป้องกันน้ำท่วมถาวร ทำให้เกิดการจัดการปรับปรุงพื้นที่บริเวณคลองญวนซึ่งอยู่ติดแนวพนังป้องกันน้ำท่วมดังกล่าว ซึ่งพบว่าคลองญวนมีสภาพรกร้าง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งเนื่องจากท้องคลองอยู่สูงกว่าระดับน้ำปกติของแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำจะไหลเข้าสู่คลองญวนเพียงช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น
เทศบาลนครนครสวรรค์จึงแนวคิดในการนำน้ำทิ้งจากโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียชุมชน ซึ่งมีความสะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง เข้าสู่คลองญวนซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 45 เมตร เพื่อฟื้นฟูสภาพคลองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

จากนั้นทำการปรับทัศนียภาพให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ต้องการสื่อถึงการบริหารจัดการน้ำเสียชุมชนที่สามารถนำมาใช้ประโชน์ได้อย่างคุ้มค่า ไร้สี ไร้กลิ่น มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ โดยทำการเลี้ยงปลาคาร์ปและปลาพื้นถิ่นภายในคลองญวนเพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำด้วย ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก




ชื่อ คลองญวนชวนรักษ์
มีความหมายว่า คลองและพื้นที่บริเวณเกาะ(ญวน)นี้เป็นพื้นที่และลำน้ำที่รับน้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครนครสวรรค์ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นส่วนหนึ่งจึงมีความเกี่ยวข้องกับแนวทางของเทศบาลนครนครสวรรค์ในการรณรงค์ เชิญ(ชวน)ให้ประชาชนร่วมกันเห็นถึงความสำคัญและร่วมกันอนุ(รักษ์)สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้เทศบาลนครนครสวรรค์ได้ทำก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อบำบัดนำเสียเหล่านั้น อีกทั้งได้นำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ทั้งการรดน้ำต้นไม้ในอุทยานสวรรค์ เกาะกลาง พื้นที่สาธารณะ เติมน้ำเข้าสู่อุทยานสวรรค์เพื่อรักษาระดับน้ำ ล้างทำความสะอาดถนน แต่น้ำที่ผ่านการบำบัดส่วนใหญ่จะถูกปล่อยลงยังลำน้ำด้านในเกาะญวนก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานเดชาติวงศ์ ซึ่งจากการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมดังกล่าว
ทำให้ที่ผ่านมาเทศบาลนครนครสวรรค์ได้รับเกียรติในการพิจารณาให้รับรางวัลเกียรติคุณต่างๆ อาทิ รางวัลที่ 1 ระดับอาเซียน โครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน ด้านน้ำ (ASEAN ESC AWARD 2014) รางวัลชนะเลิศ เทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2562 รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เทศบาล น่าอยู่อย่างยั่งยืน ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2562 รางวัลแนวคิดต้นแบบเมืองนิเวศ (Ecological City Eco-City) ปี 2561
เทศบาลนครนครสวรรค์ได้พัฒนาพื้นที่ คลองญวนชวนรักษ์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อน และสถานที่ออกกำลังกายอีกแห่งหนึ่งภายในตัวเมืองนครสวรรค์ ทั้งการจัดทำทางเดิน การติดตั้งระบบพลังงานสะอาด การเพาะเลี้ยงปลา
ประติมากรรม “ปีกนางฟ้า”
เทศบาลนครนครสวรรค์ โดยการออกแบบ ของ ศ.ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมและสื่อผสม ประจำปี พ.ศ. 2540 และมีศิลปินชาวนครสวรรค์ร่วมสร้างงาน ประติมากรรม “ปีกนางฟ้า” ติดตั้งไว้บริเวณคลองญวนชวนรักษ์(ด้านใต้) ส่งเสริมแนวทาง นโยบายของเทศบาลนครนครสวรรค์ และกฎบัตรนครสวรรค์ ในการส่งเสริมให้จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นเมืองศิลปะ ดึงดูดศิลปิน นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบงานศิลปะทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาชมงานศิลปะ และท่องเที่ยวในจังหวัดนครสวรรค์ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น
“ปีกนางฟ้า” ตั้งอยู่ บริเวณคลองญวนชวนรักษ์ (ด้านใต้) มีความหมายสื่อถึงเมืองแห่งเทวดานางฟ้านางสวรรค์ ภายในเป็น หลอดไฟ Ceramic สื่อถึงแสงสว่างแห่งเมืองนครสวรรค์ ลูกกลิ้งจาก Venice Biennale(เทศกาลศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นมานานกว่า 120 ปี) ดินน้ำลมไฟ ธาตุทั้งสี่ เป็นความหมาย หมุนเวียนไม่สิ้นสุด เมืองนครสวรรค์ เป็นที่รวมแม่น้ำ 4 สาย มีปิง วัง ยม น่าน รวมถึงบึงบระเพ็ด ทำให้เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืช พรรณ ธัญญา
กำลังดำเนินการ
พระแม่กวนอิม 3 ปางค์ ความสูง 45 เมตร
ผู้มีจิตศรัทธาและภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันบริจาคทุนเพื่อร่วมกันจัดสร้างองค์พระแม่กวนอิม 3 ปางในองค์เดียว ประกอบด้วย ปางประทานพร ปางถือคฑาหยู่อี่ ปางถือลูกประคำ ความสูงรวมฐาน 45 เมตร เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว


โดยองค์พระแม่กวนอิม แกะสลักจากหินแกรนิตขาว ด้วยช่างฝีมือผู้ชำนาญการ ที่มณฑลฮกเกี๊ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน จะประดิษฐานไว้บริเวณเกาะยม ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ “พาสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา มีมูลนิธิการศึกษาเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นผู้รับมอบเงินสมทบ ดำเนินการจัดสร้าง และมอบให้เทศบาลนครนครสวรรค์


อุทยานวัฒนธรรมต้นน้ำเจ้าพระยา

โดยเกี่ยวเนื่อง กับการจัดสร้างองค์พระแม่กวนอิม 3 ปางในองค์เดียว ที่จะมีความสูงรวมฐาน 45 เมตร และในส่วนสืบเนื่องมี ข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในการประชุมกฎบัตรนครสวรรค์ ว่าควรจัดสร้างบริเวณฐานให้มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ จึงนำมาสู่ขั้นตอนการจัดหาที่ดิน และการศึกษาออกแบบโดยบริษัทผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม การประชุมนำเสนอรายละเอียด และรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ นำไปปรับปรุงพัฒนารูปแบบมาเป็นระยะ จนได้รูปแบบ การจัดสร้างอุทยานวัฒนธรรมต้นน้ำเจ้าพระยา เป็นส่วนฐานขององค์พระแม่กวนอิม


อุทยานวัฒนธรรมต้นน้ำเจ้าพระยา ภายในแบ่งเป็น 4 ชั้น เป็นพื้นที่ห้องนิทรรศการแสดงรายละเอียด วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นมา และข้อมูลต่างๆ ห้องแสดงระบบมัลติมีเดีย ห้องประชุม และชั้นบนสุด เป็นพื้นที่สักการะบูชาพระแม่กวนอิม ในส่วนของพื้นที่โดยรอบมีจะสวนสาธารณะแบบจีน

ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี แล้วจากนั้นจะมีการอัญเชิญองค์พระแม่กวนอิมมาประดิษฐาน

สะพานคนเดินข้าม
บริเวณใกล้เคียง จะจัดสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำจากฝั่งตลาดปากน้ำโพไปยัง “พาสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้มีการออกแบบให้สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ สามารถใช้เป็นสะพานเดินข้ามไปยังพาสาน และเป็นจุดชมทิวทัศน์บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งมีส่วนอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้าง


